เรียนไปเล่นไป ได้ทั้งความรู้และความสนุก

เรียบเรียงโดย ดร. สมพงษ์ เลี่ยงโรคาพาธ  (30/9/2561)

ความเป็นมา
ตามนโยบายของทางมหาวิทยาลัย ที่ต้องการให้การเรียนการสอนของรายวิชาต่างๆมีการพัฒนาวิธีการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็น Active Learning, Problem-based Learning หรือ Project-based Learning ตามแต่ความเหมาะสมในแต่ละรายวิชา เพื่อให้การเรียนในห้องมีความน่าสนใจ กระตุ้นการเรียนรู้ ผู้เรียนได้ฝึกคิดประยุกต์จากทฤษฎี และเพิ่มทักษะปฏิบัติให้มากขึ้น ในภาคการศึกษา 1/2561 ทางภาควิชาฟิสิกส์มีการจัดการเรียนการสอนวิชาฟิสิกส์ 1 และปฏิบัติการฟิสิกส์ 1 จึงได้จัดกิจกรรมการแข่งขันขึ้น ในหัวข้อ “Slow Roll” 

วัตถุประสงค์
1.       เพื่อให้นักศึกษาได้ประยุกต์เอาความรู้ในห้องเรียนฟิสิกส์ 1 และทักษะในการทำปฏิบัติการฟิสิกส์ 1 มาใช้เพื่อจัดทำชิ้นงานอย่างๆง่ายๆ และนำมาแข่งขันกัน
2.       เพื่อให้มีการเรียนรู้นอกห้องเรียน เป็นการเพิ่มความน่าสนใจของเนื้อหาวิชา และนักศึกษาได้มองเห็นภาพการนำเอาความรู้มาใช้ในชีวิตจริง
3.       เพื่อให้นักศึกษาได้พัฒนาทักษะปฏิบัติในการทำชิ้นงาน
4.       เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกทำงานร่วมกัน แบ่งงานกันทำ

กลุ่มเป้าหมาย
เฉพาะนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 1

รูปแบบกิจกรรม
      กิจกรรมดังกล่าว นักศึกษาได้นำความรู้หลักๆในเรื่อง พลังงาน ความเสียดทาน โมเมนต์ความเฉื่อย ที่บรรจุอยู่ในวิชาฟิสิกส์ 1  มาใช้พัฒนาและปรับปรุงชิ้นงานเพื่อให้สามารถแข่งขันกับเพื่อนร่วมชั้นได้
      ภาควิชาฯตั้งข้อพิจารณาไว้ว่านักศึกษาจะต้องไม่มีค่าใช้จ่ายและไม่ใช้เวลาในการจัดทำชิ้นงานมากนัก
      กำหนดให้นักศึกษาจัดทำชิ้นงานที่สามารถกลิ้งได้เพื่อใช้ในการแข่งขัน โดยให้กลิ้งลงจากพื้นโต๊ะที่มีความลาดเอียง ไม่จำกัดวัสดุที่ใช้ และได้จัดเตรียมแกนกระดาษทรงกระบอกที่มีความแข็งแรงพอสมควร เพื่อให้การเริ่มต้นทำชิ้นงานทำได้ง่ายขึ้นและประหยัดค่าใช้จ่าย โดยมีกติกาว่าชิ้นงานจะต้องกลิ้งลงมาเท่านั้น และชิ้นงานใดลงมาช้าที่สุดจะเป็นผู้ชนะ  
     ​ ทางภาควิชาฯวางแนวทางทางทฤษฎีไว้ว่าชิ้นงานควรมีโมเมนต์ความเฉื่อยมาก และมีการทำให้เกิดการถ่ายโอนพลังงานศักย์โน้มถ่วง (จุดเริ่มต้นบนพื้นเอียง) ไปเป็นรูปแบบอื่นนอกจากพลังงานจลน์ (เพราะจะทำให้เคลื่อนที่เร็ว) เช่น การทำให้เกิดความเสียดทาน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผิวสัมผัสระหว่างชิ้นงานและพื้นเอียงต้องมีความเสียดทานมากพอที่ชิ้นงานต้องไม่ไถลลงตามพื้นเอียง
      ในช่วงที่นักศึกษาเริ่มทำชิ้นงานจะยังไม่ทราบแนวทางดังกล่าวนี้ นักศึกษาได้ลองผิดลองถูก และเริ่มทำความเข้าใจในทฤษฎีที่กล่าวมาทีละน้อย จนได้ชิ้นงานที่พร้อมสำหรับการแข่งขัน
      ในการแข่งขัน ทางภาควิชาฯจัดให้นักศึกษาแบ่งเป็นกลุ่มจัดทำชิ้นงาน 1 ชิ้นตามกลุ่มปฏิบัติการ และทำการแข่งขันกันภายในห้องเรียนของตัวเอง โดยมีผู้ชนะสี่กลุ่มในแต่ละห้อง เป็นตัวแทนเพื่อแข่งขันกับห้องเรียนอื่นๆรวมเป็นสี่ห้องเรียนหรือ 16 กลุ่มในงานเปิดโลกวิศวกรรมของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ในวันที่ 26 กันยายน 2561 โดยผู้ชนะได้รับรางวัลเพื่อเป็นความภูมิใจให้กับตัวนักศึกษา

ผลการจัดกิจกรรม
จากการจัดกิจกรรมพบว่านักศึกษามีความสนุกและตั้งใจในการทำชิ้นงานดี มีการทดสอบปรับแก้ชิ้นงานในช่วงเวลาก่อนการแข่งขันจริงประมาณสองสัปดาห์ โดยใช้เวลาว่างจากการเรียน โดยมีผลสรุป ดังนี้
1.       นักศึกษาจะลงมือทดสอบชิ้นงานทันที โดยการลองผิดลองถูก แล้วจึงค่อยเริ่มคิดปรับแต่งชิ้นงานให้ได้ตามกติกาที่วางไว้ คือกลิ้งลงมาช้าที่สุด ส่วนใหญ่จะใช้แกนกระดาษที่จัดเตรียมไว้ให้ และเมื่อชิ้นงานกลิ้งพยายามทำให้เกิดการเปลี่ยนรูปของพลังงานด้วยความเสียดทาน

​2.       นักศึกษามีความสนใจและตั้งใจในการจัดทำชิ้นงานดีพอสมควร มีการจัดหาวัสดุอื่นๆมาใช้เพื่อประกอบชิ้นงาน ตั้งแต่ ไม้ไอสกรีม คลิปหนีบกระดาษ น้ำยาปรับผ้านุ่ม ไปจนถึงผ้าอ้อมเด็ก โดยใส่วัสดุไว้ภายในแกนกระดาษเพื่อให้เกิดความเสียดทานขณะกลิ้ง ใช้ติดวัสดุไว้ภายนอกเพื่อให้ชิ้นงานลากวัสดุไปขณะกลิ้ง หรือใส่ของเหลวในหลอดทรงกระบอกเพื่อให้พลังงานบางส่วนต้องใช้ไปกับเอาชนะความหนึดเพื่อดึงของเหลวภายในให้เคลื่อนลงมาตลอดเวลา เป็นต้น
3.       มีการใช้กาวร้อน เทป ดินน้ำมัน และวัสดุอื่นเพื่อประกอบชิ้นงาน และคิดใช้หนังยางเพื่อให้เกิดความเสียดทานระหว่างพื้นผิวในขณะกลิ้ง บางกลุ่มจัดหากระบอกพลาสติกเล็กๆและคิดวิธีใส่ของเหลวที่มีความหนึดสูงไว้ภายใน นักศึกษามีความพยายามในการปรับแต่งชิ้นงานให้มีความเสียดทานมากที่สุดโดยที่ชิ้นงานยังคงกลิ้งได้
4.       นักศึกษาส่วนใหญ่ร่วมกันทำชิ้นงานดี

สรุป
การจัดกิจกรรมที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่านักศึกษาบางกลุ่มมีความคิดสร้างสรรและจินตนาการดีมากควรได้รับการส่งเสริมให้ได้ใช้ความคิดอย่างต่อเนื่องต่อไป โดยรวมแล้วการจัดกิจกรรมนี้นักศึกษาส่วนใหญ่ได้รับประโยชน์จากการนำความรู้ที่เรียนในห้องมาปฏิบัติจริงกับชิ้นงาน และยังได้ทำงานร่วมกันกับเพื่อนๆ ถือว่ากิจกรรมนี้ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ