การควบคุมการแพร่ขยายอาวุธทำลายล้างสูงผ่านมาตรการควบคุมการส่งออกสินค้าของประเทศไทย

เรียบเรียงโดย ดร.สมพงษ์ เลี่ยงโรคาพาธ  (23 ธันวาคม 2559)

      ความพยายามพัฒนาขีดความสามารถของอาวุธจากประเทศต่ดรางๆทั้งจากประเทศที่อยู่ในภูมิภาคที่มีความขัดแย้งรุนแรงรวมถึงกลุ่มก่อการร้ายมีเพิ่มขึ้นอย่างกว้างขวางและก้าวกระโดด มีการพัฒนาอาวุธที่มีขีดทำลายล้างสูง (Weapons of Mass Destruction [WMD])  ขึ้นมากกว่าที่ผ่านมา จึงมีความพยายามในการจำกัดขีดความสามารถในการพัฒนาอาวุธดังกล่าวให้อยู่ในประเทศพัฒนาแล้วเพียงไม่กี่ประเทศ
       เพื่อให้การจำกัดขีดความสามารถการพัฒนาอาวุธอยู่ในวงจำกัดได้ผล จึงมีมาตรการควบคุมการส่งออกสินค้า (export control) สำหรับสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่ใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อาจนำไปพัฒนาเป็นอาวุธทำลายล้างสูงได้ หรือที่เรียกว่า สินค้าที่ใช้ได้สองทาง หรือ Dual-Use Items (DUI) เพื่อไม่ให้สินค้า เทคโนโลยีและวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ได้สองทางที่อาจนำไปพัฒนาเป็นอาวุธ ถูกผลิตหรือส่งผ่านไปยังกลุ่มก่อการร้าย

การนําสินค้าทางสันติไปใช้ในทางสงคราม

ภัยคุกคามต่อความสงบเกิดขึ้นทั่วโลกบ่อยครั้งขึ้น มีการนำอาวุธที่มีขีดทำลายล้างสูงมาใช้ โดยเฉพาะอาวุธเคมีและอาวุธชีวภาพซึ่งมีราคาถูกและผลิตได้ง่าย รวมถึงระเบิดที่มีความรุนแรง ดังเช่นเหตุการณ์ต่อไปนี้[1]
1.       การปล่อยแก๊สซารินในรถไฟฟ้าใต้ดิน (ค.ศ. 1995)
2.       การปล่อยเชื้อแอนแทรกซ์ ในอเมริกา (ค.ศ.2001)
3.       การลอบวางระเบิดรถไฟของสเปน (ค.ศ.2004)
4.       การลอบวางระเบิดรถไฟใต้ดิน/รถบัสกรุงลอนดอน (ค.ศ. 2005)
5.       การลอบวางระเบิดรถไฟที่มุมไบ (2008)
6.       การก่อการร้ายลอบวางระเบิดรถไฟใต้ดินกรุงมอสโคว์ (ค.ศ. 2010)
7.       การยิงจรวดของเกาหลีเหนือเข้าเกาะยองเปียว เกาหลีใต้ (ค.ศ.2010)
8.       การทดสอบยิงขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ (ค.ศ. 2006/2009/2012/2014)
9.       การใช้อาวุธเคมีในสงครามในประเทศซีเรีย(ค.ศ.2013)
ตัวอย่างของ สินค้าส่งออกเพื่อใช้ในทางพาณิชย์แต่อาจถูกนำไปใช้ในทางสงครามในประเทศปลายทาง เช่น[1]
1.       เครื่องจักรขึ้นรูป สำหรับการผลิต กัด ขึ้นรูปชิ้นส่วนยานยนต์ อาจถูกนำไปผลิตเครื่องปั่นเหวียงความเร็วสูง เพื่อใช้เพิ่มความเข้มข้นของยูเรเนียม ในการผลิตอาวุธนิวเคลียร์
2.       โซเดียมไซยาไนต์ สำหรับกระบวนการชุบทองคำ อาจถูกนำไปเป็นวัตถุดิบสำหรับอาวุธเคมี
3.       เครื่องกรอง สำหรับการกรองน้ำเค็มเป็นน้ำจืด อาจถูกนำไปสกัดเชื้อโรคเพื่อการผลิตอาวุธชีวภาพ
4.       คาร์บอนไฟเบอร์ ถูกใช้เป็นวัสดุโครงสร้างของเครื่องบินหรือแม้แต่อุปกรณ์กีฬา อาจถูกนำไปใช้เป็นวัสดุโครงสร้างของจรวดขีปนาวุธ

การแพร่ขยายอาวุธทำลายล้างสูงผ่านการส่งออกสินค้าที่ใช้ได้สองทาง

ตัวอย่างของการส่งออกสินค้าที่เข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ที่มีความพยายามปกปิดและให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ เพื่อให้มีการส่งออกไปยังประเทศปลายทางที่มีความเสี่ยงในการผลิตอาวุธที่มีขีดทำลายล้างสูง เช่น [1, 2]
1.         2003: บริษัทในญี่ปุ่นแห่งหนึ่งส่งออกอินเวอร์เตอร์ที่ใช้ในเครื่องซักผ้าโรงงาน ไปที่จีน แต่ตรวจสอบพบว่ามีการลำเลียงส่งต่อจากจีนไปยังเกาหลีเหนือ ซึ่งอินเวอร์เตอร์ดังกล่าวมีความเป็นไปได้ในการนำไปใช้กับเครื่องปั่นเหวี่ยงในการผลิตยูเรเนียมความเข้มข้นสูง
2.         2004: บริษัทแห่งหนึ่งในปากีสถาน ได้ติดต่อ บริษัทในแอฟริกาใต้ให้จัดหาอุปกรณ์ 100-400 Triggered Spark Gap โดยอ้างว่าจะนำไปใช้ในการวิจัยทางการแพทย์ ส่งผ่านทางดูไบ  แต่ทางบริษัทแห่งนี้ไม่สามารถแสดงหลักฐานการนำไปใช้งานทางการแพทย์ได้อย่างถูกต้องตามที่อ้าง จึงถูกดำเนินคดีในการจัดหาและส่งออกอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างระเบิดนิวเคลียร์
3.         2009: บุคคลสัญชาติแคนาดา เชื้อชาติอิหร่าน เป็นธุระจัดหา pressure transducer จากบริษัทในสหรัฐฯ โดยระบุว่าเป็นสินค้าสำหรับส่งออกไปที่เดนมาร์ค แต่บริษัทผู้ผลิตได้รายงานความน่าสงสัยของการสั่งซื้อนี้ จึงมีการตรวจสอบจากรัฐบาลและพบว่ามีการปกปิดมูลค่าสินค้า ลอกสลากออกจากตัวสินค้า และมีการส่งออกไปยัง UAE และบริษัทที่ UAE อาจมีการส่งต่อไปยังอิหร่าน นอกจากนี้ยังพบว่ามีการทำความผิดในการส่งออกสินค้าอีก 9 รายการ จึงถูกดำเนินคดี
4.         2012: บุคคลสัญชาติอิหร่านได้สั่งการให้บุคคลในประเทศจีน มีการสั่งซื้อ Aluminum alloy, mass spectrometer ปั๊มสุญญากาศ และสินค้าอื่นๆ จากสหรัฐฯ เพื่อให้ส่งออกไปยัง จีนและฮ่องกง ต่อมาพบว่ามีการปกปิดว่าอิหร่านเป็นประเทศปลายทางของสินค้าและผู้ใช้สุดท้าย จึงถูกดำเนินคดีและถูกจับกุม

สินค้าที่อยู่ในข่ายต้องควบคุม

สินค้าที่เข้าข่ายต้องควบคุมการส่งออก แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ [2]
1.       Nuclear Suppliers Group (NSG) ควบคุมเทคโนโลยีขั้นสูง และวัสดุอุปกรณ์ที่อาจนำไปพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ มีข้อตกลงตั้งแต่ปี 1975
2.       Australia Group (AG) ควบคุมสารเคมี สารชีวภาพ วัสดุและอุปกรณ์ที่สามารถนำมาพัฒนาเป็นอาวุธเคมีหรืออาวุธชีวภาพได้ มีข้อตกลงตั้งแต่ปี 1985
3.       Missile Technology Control Regime (MTCR) ควบคุมระบบการขนส่ง เทคโนโลยีขั้นสูงและวัสดุอุปกรณ์ที่อาจนำไปใช้ในการพัฒนาขีปนาวุธ มีข้อตกลงตั้งแต่ปี 1987
4.       Wassenaar Arrangement (WA) ควบคุมวัสดุอุปกรณ์ และเทคโนโลยีที่สามารถนำไปผลิตอาวุธร้ายแรงอื่นๆ  มีข้อตกลงตั้งแต่ปี 1996
การจัดหมวดสินค้าควบคุมจะใช้บัญชีสินค้าที่ใช้ได้สองทางของสหภาพยุโรป หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า EU List เป็นแนวทางเนื่องจากใช้กันทั่วโลก ซึ่ง EU List  ฉบับล่าสุดเป็นฉบับปี 2012 โดยแบ่งออกเป็นหมวดต่างๆ ได้แก่ [3]
0.       วัสดุนิวเคลียร์  โรงงานผลิต  และอุปกรณ์ (Nuclear Materials, Facilities and Equipment)
1.       วัสดุพิเศษ  และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง (Special Materials and related Equipment)
2.       วัสดุ อุปกรณ์ในการผลิต (Material Processing)
3.       อิเล็กทรอนิกส์ (Electronics)
4.       คอมพิวเตอร์ (Computers)
5.       ระบบโทรคมนาคมและการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล (Telecommunications and Information Security)
6.       เครื่องเซนเซอร์  และเครื่องเลเซอร์ (Sensors and Lasers)
7.       ระบบนำทางและการบิน (Navigation and Avionics)
8.       ยานพาหนะทางน้ำและอุปกรณ์ (Marine)
9.       ยานอวกาศ  และระบบขับเคลื่อนจรวด (Aerospace and Propulsion)

หน่วยงานของไทยกับพระราชบัญญัติการค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง

ในปัจจุบันประเทศไทยมีหน่วยงานกำกับดูแลสินค้าสองทางอยู่ 5 หน่วยงาน ได้แก่ กรมอุตสาหกรรมทหาร กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมวิทยาศาสตร์และการแพทย์ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ซึ่งทั้ง 5 หน่วยยังไม่สามารถกำกับดูแลสินค้าสองทางได้ครอบคลุมทั้งหมดตามบัญชีของสหภาพยุโรป[3]
คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติการค้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (Trade Control on Weapons of Mass Destruction related Items [TCWMD]) เพื่อให้ประเทศไทยมีกฎหมายในการกำกับดูแลการส่งออก ถ่ายลำ ผ่านแดน และการเป็นคนกลางซึ่งสินค้าที่เกี่ยวข้องกับ WMD รวมทั้งสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ตลอดจนสินค้าทั่วไปที่สามารถนำไปประกอบ พัฒนา เสริมสร้างและดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ WMD แล้วก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตมนุษย์จำนวนมากอย่างร้ายแรง โดยกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้กำกับดูแลรายการสินค้า DUI ร่วมกับหน่วยงานอื่น เพื่อป้องกันการส่งสินค้าดังกล่าวไปยังกลุ่ม หรือบุคคลที่เป็นภัยต่อความมั่นคง ในขณะเดียวกันการดำเนินการควบคุมและดูแลมาตรฐานสินค้าไทยที่อาจมีส่วนประกอบเป็นสินค้าสองทางตามมาตรฐานของประเทศคู่ค้าจะสามารถช่วยรักษาตลาดสินค้าส่งออกของไทยให้เป็นไปตามประกาศ DUI ของสหภาพยุโรป ตลอดจนช่วยป้องกันไม่ให้ประเทศคู่ค้านำเหตุผลว่าไทยไม่มีการควบคุมกำกับดูแลที่ดีพอ มาเป็นเหตุในการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีต่อสินค้าส่งออกของไทย [3, 4]
โดยมาตรการดังกล่าวจะช่วยส่งผลดีต่อภาพพจน์การค้าระหว่างประเทศของไทยให้ได้รับการยอมรับในระดับสากลว่า มีความปลอดภัยจากการแพร่ขยาย WMD ซึ่งสอดคล้องตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ 1540 ที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกรวมถึงประเทศไทย ต้องมีมาตรการภายในประเทศที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการแพร่ขยาย WMDนอกจากจะเป็นการป้องกันการค้าของประเทศไม่ให้ไปเกี่ยวข้องกับ WMD อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว จะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี อีกทั้งยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อมิตรประเทศโดยเฉพาะประเทศคู่ค้าว่าไทยมีมาตรการควบคุมและยับยั้งการแพร่ขยาย WMD รวมทั้งป้องกันความเสี่ยงจากการก่อการร้ายในขณะเดียวกันด้วย [4]

การเข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการพิจารณาสินค้าที่ใช้ได้สองทาง

กรมการค้าต่างประเทศ ได้จัดตั้ง ระบบการบริหารการค้าสินค้าที่ใช้ได้สองทางของไทย (Trade Management of Dual-Use Items : TMD)สำหรับดูแลและสนับสนุนการส่งออกของไทย พบว่า ปัจจุบันหน่วยงานของไทยที่เกี่ยวข้องในเรื่องการควบคุมสินค้า DUI  รวม 7 หน่วยงาน ได้แก่ กรมการอุตสาหกรรมทหาร  กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กรมวิชาการเกษตร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ มีกฎหมายที่สามารถใช้ก่ากับดูแลสินค้า DUI ได้เพียงประมาณ 290 รายการเท่านั้น  ดังนั้น ในส่วนของสินค้า DUIอีก1,417 รายการ ที่ยังไม่มีหน่วยงานใดควบคุมได้ ทั้งนี้บุคลากรของกรมการค้าต่างประเทศ ไม่มีความรู้ทางเทคนิคในการจำแนก กำหนด  และประเมินความเสี่ยงของสินค้า DUI กรมฯ จึงได้ขอความอนุเคราะห์จากสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานต่างๆ ที่มีทักษะความรู้และประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญเพื่อช่วยในการด่าเนินงาน  ซึ่งจะประสานดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อลดภาระและอำนวยความสะดวกในการทำงานร่วมกันระหว่างกรมฯ และผู้เชี่ยวชาญให้ได้มากที่สุด 
โดย “คณะอนุกรรมการพิจารณาสินค้าที่ใช้ได้สองทาง” ประกอบด้วย ผู้ชี่ยวชาญจากสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานต่างๆ ได้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพื่อให้คำปรึกษาและข้อคิดเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาตส่งออกสินค้า DUI ของกรมการค้าต่างประเทศ  โดยแบ่งคณะอนุกรรมการฯ ตามกลุ่มสินค้าออกเป็น 5 คณะประกอบด้วย
1.       กลุ่มสินค้านิวเคลียร์ วัสดุโลหการ เครื่องจักรกล กระบวนการแปรรูปวัสดุ รวมทั้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง  จำนวนผู้เชี่ยวชาญ 5 ราย  รับผิดชอบสินค้า DUI 405 รายการ
2.       กลุ่มสินค้าสารเคมี และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง จำนวนผู้เชี่ยวชาญ 5 ราย  รับผิดชอบสินค้า DUI 92 รายการ
3.       กลุ่มสินค้าเชื้อโรค และพิษจากสัตว์และพืช  และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง  จำนวนผู้เชี่ยวชาญ 4 ราย  รับผิดชอบสินค้า DUI 27 รายการ
4.       กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์  คอมพิวเตอร์  ระบบโทรคมนาคมและการรักษาความปลอดภัยข้อมูล  เครื่องเซนเซอร์และเลเซอร์ รวมทั้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง จำนวนผู้เชี่ยวชาญ 3 ราย รับผิดชอบสินค้า DUI594 รายการ
5.       กลุ่มสินค้าระบบนำทางและการบิน ยานพาหนะและอุปกรณ์ทางน้ำ ยานอวกาศและระบบขับเคลื่อนจรวด  และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง  จำนวนผู้เชี่ยวชาญ 6 ราย  รับผิดชอบสินค้า DUI 300
โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานครจะให้ข้อคิดเห็นในหมวดที่ 5 คือ ยานอวกาศและระบบขับเคลื่อนจรวด  และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง
ในการนี้ได้มีพิธีลงนาม บันทึกข้อตกลงความร่วมมือและแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการทางด้านสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ไปเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2559 โดยท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ได้เข้าร่วมในพิธีดังกล่าว โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน

เอกสารอ้างอิง

[1] ฝ่ายงานต่างประเทศ การค้าที่เกี่ยวกับความมั่นคง กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (METI),“รายละเอียดการควบคุมการส่งออกของญี่ปุ่น”,พฤศจิการยน 2559

[2] “Strategic Trade Licensing: Technical Experts Training”, Training document, Ministry of Commerce, 14-15 December 2016, Centra Hotel, Bangkok, THAILAND.

[3] สำนักมาตรการทางการค้า กรมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์,“การควบคุมการส่งออกสินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Export Control for Dual-Use Goods)”, http://web.dft.go.th/Default.aspx?tabid=107 เข้าถึงเมื่อ 20/12/2559

[4] ประชาชาติธุรกิจ,“ร่าง พ.ร.บ. สินค้าใช้ได้สองทาง (Dual Use) ผ่าน ครม.แล้ว” ลงวันที่ 11 ต.ค. 2559 เวลา 10:55:40 น. เข้าถึงเมื่อ 20/12/2559